งานตรวจหาตำแหน่งเหล็กเสริมและระยะหุ้มคอนกรีต
Ferro Scan test and covermeter

งานตรวจหาตำแหน่งเหล็กเสริมและระยะหุ้มคอนกรีต (Ferro Scan Test or Electromagnetic Cover measurement) เป็นวิธีการทดสอบโครงสร้างแบบไม่ทำลาย (Nondestructive Test) โดยมักจะใช้ในงานตรวจสอบอาคารที่ไม่มีข้อมูลแบบโครงสร้าง หรือแบบโครงสร้างมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่ทราบรายละเอียดปริมาณและการจัดวางเหล็กเสริม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาความสามารถในการรับน้ำหนักขององค์อาคาร วิธีทดสอบ Ferro Scan จะช่วยหาตำแหน่งเหล็กเสริมและขนาดของเหล็กเสริมได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างเดิม ซึ่งอุปกรณ์ทดสอบ Ferro scan จะมีสามส่วนประกอบ คือ หัววัด จอควบคุมและแสดงผล และสายเชื่อมต่อข้อมูล
การทำงานของเครื่องตรวจหาตำแหน่งเหล็กเสริมและระยะหุ้มคอนกรีตนั้น ใช้หลักการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเมื่อมีวัสดุนำไฟฟ้าเข้ามารบกวน ซึ่งในที่นี้คือเหล็กเสริมที่ฝังในคอนกรีต โดยเมื่อเครื่องเริ่มทำงาน หัววัดจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา เมื่อมีวัสดุนำไฟฟ้าเข้ามาในระยะ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะถูกรบกวนและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะห่างระหว่างหัววัดและวัสดุนำไฟฟ้า ซึ่งตำแหน่งที่หัววัดตรวจพบการรบกวนมากที่สุด สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีเหล็กเสริมคอนกรีตอยู่
งานทดสอบ Ferro scan มีขั้นตอนการทดสอบคร่าวๆ ดังนี้งานทดสอบ Ferro scan มีขั้นตอนการทดสอบคร่าวๆ ดังนี้
- ขั้นตอนระบุตำแหน่งเหล็กเสริมทำการสแกนหาตำแหน่งของเหล็กเสริม ทั้งสองทิศทาง (ทิศทางตามยาวและทิศทางตามขวางของโครงสร้าง) จากนั้นทำการระบุตำแหน่งของเหล็กในแต่ละทิศทาง
- ขั้นตอนตรวจสอบระยะหุ้มและขนาดเหล็กเสริมเมื่อทราบตำแหน่งของเหล็กเสริมแล้ว ทางทีมงานจะทำการตรวจสอบวิเคราะห์หาระยะคอนกรีตหุ้มผิวเหล็ก, ขนาดเหล็กเสริมหลัก และขนาดเหล็กเสริมรอง
- ประมวลผลข้อมูลจากภาคสนามหลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ทางทีมงานจะนำข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ ไปทำการวิเคราะห์ หาขนาดเหล็กเสริมหลัก, เหล็กเสริมรอง และระยะคอนกรีตหุ้มผิวเหล็ก ที่แท้จริงของโครงสร้างต่อไป
โดยเทคนิคตรวจหาตำแหน่งเหล็กเสริมและระยะหุ้มคอนกรีตสสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในงานลักษณะต่อไปนี้
- งานตรวจสอบควบคุมคุณภาพ เพื่อใช้ตรวจสอบว่าตำแหน่งและระยะหุ้มเหล็กเสริมถูกต้องตามแบบ
- ใช้สำรวจชิ้นส่วนโครงสร้างคอนกรีตที่ไม่มีข้อมูลแบบก่อสร้าง
- ใช้หาตำแหน่งเบื้องต้นของเหล็กเสริมในคอนกรีตสำหรับงานทดสอบโครงสร้างวิธีอื่นๆ ที่ต้องหลีกเลี่ยงเหล็กเสริม เช่น งานเจาะเก็บตัวอย่างคอนกรีต (Coring), งานทดสอบ Ultrasonic Pulse Velocity หรือกลุ่มวิธีทดสอบแบบใต้ผิวคอนกรีต (Near to surface method)
-