งานตรวจพินิจโครงสร้าง
Visual Inspection Test
งานตรวจพินิจโครงสร้างเป็นงานตรวจสอบเบื้องต้นที่ใช้เป็นประจำในงานประเมินและตรวจสอบโครงสร้าง เนื่องจากช่วยให้ทีมงานสามารถประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้างได้ และประเมินการทดสอบในขั้นต่อไปได้เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้การตรวจพินิจโครงสร้างยังสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ในระยะเวลาสั้นๆ และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง
โดยในงานตรวจพินิจโครงสร้างจะใช้เครื่องมือช่างพื้นฐานในการตรวจสภาพ ได้แก่ กล้องถ่ายภาพ ตลับเมตร ระดับน้ำ เป็นต้น โดยทีมวิศวกรจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น (Desk study) จากแบบก่อสร้างและรายการคำนวน (ถ้ามี) ก่อนลงพื้นที่หน้างาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแบบก่อสร้างและอาคารจริง สำรวจรอยแตกร้าวและความเสียหายเชิงกายภาพของอาคารที่สามารถเข้าถึงได้ โดยความเสียหายที่พบได้บ่อยในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก คือ
- จุดบกพร่องในงานก่อสร้างต่างๆ เช่น รูพรุนในคอนกรีต, เหล็กเสริมที่ยื่นออกมา สภาพผิวของคอนกรีต เป็นต้น
- รอยร้าว (Cracking) ซึ่งทิศทางและขนาดของรอยร้าวทำให้คาดเดาสามาเหตุที่เกิดขึ้นและระดับความเสียหายได้
- การสลายตัวของคอนกรีต จากปัจจัยต่างๆ โดยมักพบในคอนกรีตที่ได้รับผลกระทบทางเคมี เช่น ใกล้ทะเล หรือโรงงาน
- การบิดเบี้ยวหรือเคลื่อนตัวของโครงสร้าง
- การสูญเสียผิวคอนกรีตจากการกัดเซาะ
- การวิบัติของวัสดุอุดรอยต่อ
- การรั่วซึมของน้ำ
- การหลุดร่อนของคอนกรีต
โดยระหว่างทำการสำรวจ จะมีการบันทึกข้อมูลและภาพถ่ายความเสียหายที่ตรวจพบ ก่อนจะจัดทำรายงานสรุปผลต่อไป
ในงานตรวจพินิจโครงสร้าง สามารถดำเนินงานร่วมกับการจัดทำแผนที่ความเสียหายของโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของความเสียหาย และมีข้อมูลตำแหน่งความเสียหายละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้การตรวจวัดการเอียงตัวของโครงสร้าง (Settlement survey) ก็จะทำให้ได้ข้อมูลการเอียงตัวของโครงสร้างชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
RELATED POST
งานประเมินสภาพโครงสร้าง (Structural Assessment)
งานตรวจหาตำแหน่งเหล็กเสริมและระยะหุ้มคอนกรีต (Ferro scan and covermeter test)
งานตรวจประเมินโครงสร้างและทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณดาดฟ้า
งานตรวจประเมินกำลังอัดคอนกรีตโครงสร้างบ้านพักอาศัย
งานประเมินกำลังอัดคอนกรีตด้วยค้อนกระแทก (Rebound hammer)