เตรียมพร้อมก่อนทดสอบ Load testing

ในงานทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของโครงสร้าง หรือ Load testing มีองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินการทดสอบ คือ น้ำหนักบรรทุกที่ใช้สำหรับการทดสอบ การติดตั้งอุปกรณ์การวัด และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น โดยในแต่ละโครงการที่ดำเนินการทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุก มีลักษณะที่แตกต่างกัน อาทิเช่น โครงสร้างพื้นคอนกรีตหล่อในที่ (Cast-in-Place Concrete Slabs) โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนคาน (Slabs on Beam) โครงสร้างพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slabs on Ground) โครงสร้างพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Slabs) และโครงสร้างหลังคา เป็นต้น ทำให้ในแต่ละโครงการ ทางทีมงานฯ จะต้องทำการประเมินลักษณะทางกายภาพของโครงสร้าง และพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการทดสอบทุกครั้ง โดยปกติแล้วก่อนการดำเนินการทดสอบ ทางทีมงานฯจะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ลักษณะของโครงสร้างและพื้นที่สำหรับการทดสอบ
- ปริมาณน้ำหนักบรรทุกสำหรับการทดสอบ
- ชนิด การติดตั้ง และการขนย้ายน้ำหนักบรรทุก
- การติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมของโครงสร้าง เป็นต้น




ลักษณะของโครงสร้างและพื้นที่สำหรับการทดสอบ ในการประเมินส่วนนี้ ทางทีมงานฯจะพิจารณาลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างที่ทางผู้ว่าจ้างต้องการที่จะทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุก ว่าเป็นโครงสร้างประเภทใด อาทิเช่น โครงสร้างหลังคา โครงสร้างพื้น โครงสร้างคาน หรืออาจจะเป็นการทดสอบร่วมกัน เช่น โครงสร้างพื้นและคาน เป็นต้น นอกจากนี้ตำแหน่งของโครงสร้างที่จะดำเนินการทดสอบก็มีความสำคัญ ทางทีมงานต้องคำนึงว่าบริเวณไหนเหมาะสมสำหรับการทดสอบ หรืออาจจะทำการทดสอบบริเวณตำแหน่งที่ทางผู้ว่าจ้างต้องการทดสอบ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการดำเนินการด้วย ว่าพื้นที่ทำการทดสอบสามารถใสและขนย้ายน้ำหนักบรรทุกได้หรือไม่ และสะดวกต่อการดำเนินการหรือไม่
ปริมาณน้ำหนักบรรทุกสำหรับการทดสอบ จากข้อกำหนดของ ACI 318M-11 การคำนวณน้ำหนักบรรทุก (W) สำหรับการทดสอบ load testing จะหาได้จาก W = 0.85(1.4D + 1.7L) โดยที่ D = น้ำหนักบรรทุกคงที่ (Dead Load, น้ำหนักบรรทุกที่กระทำอยู่กับที่ คงที่ตายตัว ไม่มีการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงขนาดของน้ำหนัก เช่นน้ำหนักของ เสา คาน พื้น หลังคา ผนัง บันได กระเบื้องปูพื้น พื้นสำเร็จรูป และคอนกรีตทับหน้าของพื้นสำเร็จรูป เป็นต้น) L = น้ำหนักบรรทุกจร (Live load, น้ำหนักบรรทุกที่เป็นลักษณะมีการเคลื่อนย้าย เคลื่อนที่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงขนาดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา หรืออยู่ชั่วคราว เช่น รถยนต์ เครื่องจักร หิมะ แรงลม ผู้คนที่ใช้อาคาร วัสดุอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น)




ชนิด การติดตั้ง และการขนย้ายน้ำหนักบรรทุก เมื่อทราบลักษณะของโครงสร้าง พื้นที่สำหรับการทดสอบและปริมาณน้ำหนักบรรทุกสำหรับการทดสอบแล้ว ทางทีมงานฯ จะทำการพิจารณาชนิดของน้ำหนักบรรทุกที่จะใช้ โดยทั่วไปน้ำหนักบรรทุกมีหลายประเภท อาทิเช่น การใช้น้ำ คอนกรีตบล๊อค ทรายหรือหินบรรจุถุง เป็นต้น ทั้งที่ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำหนักบรรทุกและความพร้อมของทางผู้ว่าจ้าง ว่าจะใช้น้ำหนักบรรทุกประเภทใด จึงจะเหมาะสมกับการทดสอบนั้นๆ เมื่อทราบชนิดของน้ำหนักบรรทุกแล้ว ทางทีมงานฯ จะทำการคำนวณและหาวิธีการสำหรับการติดตั้งและการเคลื่อนย้ายน้ำหนักบรรทุกต่อไป

การติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมของโครงสร้าง เพื่อวัดข้อมูลพฤติกรรมของโครงสร้าง อปุกรณ์ตรวจวัดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง ได้แก่ Dial gauges ซึ่งมีค่าความละเอียดที่ 0.01 มม. หรือ Displacement Transducer จะถูกติดตั้ง โดยที่ตำแหน่งของการติดตั้งจะทำการติดตั้งบริเวณกึ่งกลางของบริเวณที่แรงกระทำสูงสุดเป็นหลัก อาทิเช่น แนวกึ่งกลางคาน และแนวกึ่งกลางพื้น เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว การจัดเตรียมน้ำหนักบรรทุกสำหรับงานทดสอบกำลังรับน้ำหนักบรรทุกโครงสร้าง จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของวิศวกรโครงสร้างผู้ชำนาญ เพื่อความปลอดภัยระหว่างการทดสอบ และความแม่นยำของข้อมูลที่วัดค่าได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในการทดสอบได้ หากมีการวางแผนที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของแต่ละโครงการ